วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สวัสดีครับ

สวัสดีครับ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ
ห่างหายกันไปนานหลายเดือนเลยนะครับ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาติดงานหลักมาก ไม่ค่อยมีเวลาดูแลน้องเดือนเลย
เริ่มกันที่เราคงรู้จักวิธีการเพาะเลี้ยงกันมามากพอสมควรแล้ว ตอนนี้เรามาดูว่าเราได้อะไรจากการเลี้ยงน้องเดือนกันบ้างดีกว่า

ว่ากันที่ประโยชน์จากการเพาะเลี้ยงไส้เดือน
เราได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ (เน้นว่าผมอยากให้ใช้เพียงเวลาว่างเท่านั้น)
เราได้รู้จักการแยกขยะมากขึ้น เป็นไปได้ควรสอนเด็กๆให้รู้จักการแยกขยะด้วยนะครับ เพราะนอกจากเราจะได้กำจัดขยะสด และเศษอาหารที่เรากินเหลือแล้ว เรายังจะได้แยกขยะที่สามารถนำมาขายต่อได้อีก หากสามารถทำเป็นชีวิตประจำวันได้ จะสามารถลดขยะได้มากโข
จากนั้นเราก็จะได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนซึ่งปลอดจากสารพิษ ไว้ใส่ต้นไม้ หากพอมีเวลาก็แนะนำให้ปลูกผักสวนครัวไว้เก็บกินเองก็จะดีนะครับ ใช้พื้นที่แค่สัก 1 ตร.ม.ก็พอ ปลูกพวก พริก ตะไคร้ ใบกระเพรา ใบหัวระพา แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปหาซื้อครับ
ที่สำคัญคุณก็ได้ช่วยลดโลกร้อนได้ง่ายๆแล้วครับ

เอาล่ะ เห็นประโยชน์กันมามากพอสมควรแล้ว เรามาต่อกันให้เห็นภาพดีกว่าว่าไส้เดือนจะสามารถกำจัดขยะได้มากขนาดไหน
การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดขยะ ผมจะใช้ไส้เดือน 1 กก. ต่อพื้นที่ ประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร
โดยใช้เบดดิ้ง เป็นขี้วัว30% + ( ขุยมะพร้าว + กระดาษ + เศษใบไม้ ) 70%
ใส่เบดดิ้งสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ใส่ไส้เดือน 1 กก. (อย่างไรดูตามรูปนะครับ )

เอาล่ะเรียบร้อยแล้ว ผมเรียกมันว่าเครื่องกำจัดขยะ

จากนั้นหากเรามีเศษอาหารที่ทานเหลือ หรือทำกับข้าวแล้วมีเศษผัก ไส้ปลา หรือจะเรียกว่าขยะที่เป็นธรรมชาติก็สามารถนำมาใส่เครื่องกำจัดขยะใบนี้ได้เลยครับ ( หากเป็นแกงเผ็ดเอาแต่เนื้อดีกว่านะครับอย่าราดไปทั้งที่มีน้ำสงสารไส้เดือนครับ เพราะมันจะมีความร้อนจากความเผ็ดของพริกครับ และจะใจดีมากหากจะล้างน้ำก่อนสักครั้ง )
เท่านี้เองครับ ง่ายดีใช่ม้า ส่วนเราก็สามารถเก็บปุ๋ยไปใช้ได้เลยครับ เก็บได้ทุกวัน

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(ปฏิบัติจริง7)


เป็นอันเสร็จไม่ยากใช่มั้ยล่ะครับเพื่อนๆ ยังไงก็ลองนำไปใช้ดู หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยด้วยครับ หากเพื่อนสงสัยหรืออยากเข้ามาเยี่ยมชมวิธีการเลี้ยงสามารถโทรติดต่อผมได้ตลอดนะครับ แถมท้ายด้วยขนาดของไส้เดือนวัยเจริญพันธุ์ ในรูปมีขนาดยาว 12นิ้วโดยประมาณครับ

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(ปฏิบัติจริง6)













จากนั้นก็เทมูลไส้เดือนออกจากภาชนะหรือจะทำในภาชนะเลยก็ได้ตามแต่สะดวก วิธีคือกองเป็นภูเขาตามที่เคยเสนอไปแล้วดูตามภาพได้เลยนะครับ


เก็บด้านบนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือแต่ตัวไส้เดือนด้านล่าง (ส่วนที่ตักออกก็นำไปใส่ภาชนะเก่าไว้เพื่อเลี้ยงต่ออีก 45-60 วัน รอรุ่นใหม่โต)
พอเหลือแต่ไส้เดือนก็ทำการชั่งและนับจำนวนเช็คยอดว่าเป็นอย่างไร (คงทำได้แค่ตอนเลี้ยงครั้งแรกๆเท่านั้น พอมันเยอะคงมานั่งนับไม่ไหว)

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(ปฏิบัติจริง5)




เอาละ จากนั้นผมก็ตามด้วยการแยกพ่อพันธุ์ ไส้เดือนรุ่นที่ผมแยกผมใส่พ่อพันธุ์จำนวน 2ขีด/เบดดิ้ง 8 กก.


ซึ่งผมเห็นว่าตัวไส้เดือนยังเยอะเกินไป เพราะเวลาไม่เกิน 20 วันเบดดิ้งกลายเป็นปุ๋ยหมดแล้ว วิธีดูคือลองนำมือล้วงไปที่ก้นภาชนะและตักขึ้นมาดูว่า มันเป็นมูลไส้เดือนถึงก้นภาชนะหรือยัง หากเป็นขึ้หมดแล้วควรทำการแยก โดยด่วน ก่อนไส้เดือนจะหนีไปหาที่อยู่ใหม่ซะก่อน ลองดูภาพนะครับ
รูปแรกจะเห็นว่าที่ผิวหน้าเป็นมูลไส้เดือนทั้งหมดแล้ว ตักไปที่ก้นภาชนะก็ยังเป็นมูลอยู่ดี แยกออกดีกว่าครับ อิอิ

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(ปฏิบัติจริง4)




จากนั้น ก็นำเบดดิ้งใส่ ภาชนะที่เราจะเลี้ยง โดยใส่เบดดิ้ง 8 กก. / ไส้เดือน 1 ขีดหรือ 100 ตัว(ชั่งที่เบดดิ้งพอหมาด) จากนั้นผมจะรดด้วยน้ำ em อีกครั้ง1 เพื่อลดความร้อนและช่วยย่อยขยะได้เร็วขึ้น หากเป็นการใส่พ่อพันธุ์ที่เพิ่งแยกมาควรนำเบดดิ้งเก่ามาด้วยตามภาพ เพราะหากเบดดิ้งใหม่มีปัญหาไส้เดือนจะได้อยู่ที่เบดดิ้งเดิมก่อน
ปล. รูปที่นำไส้เดือนลงเบดดิ้งอย่างมองมากเดี๋ยวตาลายไว้ถ่ายใหม่แล้วจะนำมาเปลี่ยนให้(มันเบลอครับ)

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(ปฏิบัติจริง3)




จากนั้นผมก็นำขี้วัว กระดาษ ขุยมะพร้าม และเศษผักนำมาผสมกัน โดยจะมีขี้วัวเป็นหลักที่ ประมาณ 50 %ของเบดดิ้ง ส่วนที่เหลือก็ใส่ประมาณ อย่างละหน่อย (เหตุที่ใส่หลายอย่างเพราะอยากให้เพื่อนๆได้ดูว่าหากที่บ้านมีอะไรให้ใช้อย่างนั้นไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อ แต่ผมซื้อขุยมะพร้าวเพราะสภาพแวดล้อมไม่ค่อยมีอย่างอื่นให้ใส่ จึงต้องเตรียมขุยมะพร้าวไว้) แต่วันนี้ผมรีบไปหน่อยเลยขี้เกียจสับเศษผัก หากเพื่อนๆพอมีเวลาสับสักหน่อยก็จะดีขนาดจะได้เล็กลงกินง่ายขึ้นเยอะ

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(ปฏิบัติจริง2)


ส่วนกระดาษที่เหลือใช้ผมก็นำมาแช่น้ำไว้เช่นกัน เพื่อให้มันยุ่ยไส้เดือนจะได้กินได้ง่ายขึ้น

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(ปฏิบัติจริง)


ห่างหายกันไปหลายวัน วันนี้เอารูปตั้งแต่การเตรียมเบดดิ้งจนถึงการแยกพ่อพันธุ์มาฝากครับ

ใครมีวิธีดีๆก็สามารถโพสเพิ่มเติมได้เลยนะครับ


เริ่มด้วยการเตรียมเบดดิ้งจากภาพคือมูลวัวที่ผมทำการแช่น้ำไว้เพื่อลดความร้อนและทำให้สามารถบีบย่อยให้มูลมีขนาดเล็กลงได้ง่ายขึ้น พอจะใช้ก็ตักขึ้นมารอหมาดก็ใช้ได้และ

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(การแยกพ่อพันธุ์)

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน( เทคนิคการแยกพ่อพันธุ์ )
ในที่สุด การเพาะเลี้ยงไส้เดือน ของเราก็ถึงเวลาที่จะแยกพ่อพันธุ์มันคงจะไม่มีอะไรมากหากเราแยกแค่ 1-2 บ่อ แต่ถ้าเรามีเยอะกว่านั้นล่ะ เหนื่อยครับเหนื่อย (แต่มีความสุขนะเวลาเห็นลูกๆ) ก็ไม่มีอะไรมากมายเทคนิคง่ายๆ คือ ก่อนแยกให้งดน้ำ เป็นเวลา 7-14 วัน ให้เบดดิ้งมีความชื้นน้อยลง จากนั้นนำมากองเป็นภูเขา แล้วเราก็ไปเดินเล่นสักพัก (หรือไปกองบ่อต่อไป) จากนั้นก็มาค่อยๆเก็บข้างบนไปเรื่อยๆ ตัวไส้เดือนจะหนีมาด้านล่างสุด แหะ ๆ ง่ายดีเนาะ แต่คิดว่าหลายๆท่านที่ศึกษาข้อมูลมาบ้างคงจะรู้แล้ว (คิดว่าสำหรับคนไม่รู้ละกันเนาะ) ส่วนผู้ที่มีเป็น 100 บ่อแนะนำให้ลองsearch หาผู้ผลิตเครื่องฮาเวสอย่างแรง ไม่งั้นก็เกณฑ์คนในหมู่บ้านมาช่วยกันแยก หุหุ

อย่าลืมแนะนำให้คนรู้จักรู้ถึงประโยชน์ของ การเพาะเลี้ยงไส้เดือน กันด้วยนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(การให้อาหาร)


การเพาะเลี้ยงไส้เดือน (การให้อาหาร)
เรามาว่ากันต่อเรื่องการให้อาหารอีกหน่อยดีกว่า หุหุ การเพาะเลี้ยงไส้เดือน ให้ได้ตัวโตๆ สำคัญที่การให้อาหาร เป็นเรื่องที่ง่ายๆแต่มักง่ายไม่ได้นะครับ อาหารที่จะใส่ให้ไส้เดือน สามารถให้ได้ทั้งเศษผัก เศษผลไม้ ซากสัตว์ เศษใบไม้ กากถั่วเหลือง เศษกระดาษ ขี้หมา ขี้แมว และอื่นๆ หากทำการหมักก่อนจะทำให้ไส้เดือนกินได้ไวขึ้น การให้อาหารในการเพาะเลี้ยงไส้เดือนจะมีอยู่ 3 แบบ แบบวางบนหน้าเบดดิ้ง แบบฝังกลบ และแบบใส่อาหารแล้วทับด้วยเบดดิ้งใหม่
ในรูปผมหมักเศษผักพร้อมกับมูลวัวแล้วค่อยตักให้ไส้เดือนกิน(เนื่องจากยังไม่มีเวลาคัดแยกพ่อพันธุ์)

การให้อาหารทั้ง 3 แบบ ควรจะให้ไม่ซ้ำที่เดิม และไม่ใส่จนเต็มหน้าเบดดิ้ง (อย่างผมจะใส่แค่ครึ่งเดียวของพื้นที่ และใส่แค่บางๆ) เพราะอาหารที่เราใส่ไปใหม่อาจจะเกิดความร้อนสูงเวลาเน่าใหม่ๆ หากเราใส่ไปเต็มพื้นที่จะไม่มีที่ให้ไส้เดือนหนี และจะทำให้ตายทั้งหมด

เห็นความสำคัญของการให้อาหารแล้วนะคร้าบบบบ.... ที่สำคัญกว่านั้นเศษอาหารเหล่านั้นก็ไม่ต้องไปถึงรถขยะแย้ววววว.... วันนี้ขอไปนอนก่อนแล้วครับ

คราวหน้ามาต่อกันเรื่องอะไรดีน้า .... เอาเรื่อง เทคนิคการแยกตัวพ่อพันธุ์ออกจากเบดดิ้งดีกว่า

อย่าลืมแนะนำให้คนรู้จักรู้ถึงประโยชน์ของ การเพาะเลี้ยงไส้เดือน กันด้วยนะครับ

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(ปริมาณไส้เดือน/พื้นที่)
















การเพาะเลี้ยงไส้เดือน ปริมาณไส้เดือน/พื้นที่/ปริมาณเบดดิ้งแบ่งเป็นสองแนวทาง
1. การเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตตัวไส้เดือน
การเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตตัวไส้เดือน แน่นอนว่าเริ่มต้นเราคงต้องมาผลิตตัวไส้เดือนกันส่วนใหญ่จะเริ่มกันทีละน้อยๆเพราะไส้เดือนแพงมากมาย (ราคาปัจจุบัน 1500-2000บาท/กก.) เราไม่นับคนมีเงินถังนอนอยู่ที่บ้านน้า อิอิ(เพราะคนกลุ่มนี้เค้าเริ่มทีเป็น 100 กก.) เอาล่ะพร่ามมามากและ การเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตตัว เราจะใช้เบดดิ้ง 8 กก./ไส้เดือน 1-2 ขีดขึ้นอยู่กับลักษณะภาชนะที่ใช้เลี้ยง หากภาชนะขนาดไม่เกิน 50*50cm.ใส่ไส้เดือนสัก 1 ขีดก็เพียงพอ แต่หากเลี้ยงในรองปูน ขนาด 80cm. ก็ใส่ไส้เดือน 2 ขีด ง่ายอีกแล้วใช่ม้า

ระยะเวลาใน การเพาะเลี้ยงไส้เดือน ที่จะได้ตัวไส้เดือนล่ะ ? อืมน่าคิดอยู่เอา มาว่ากันต่ออีกหน่อย
เอายังไงดี สมมุติที่ เราเริ่ม การเพาะเลี้ยงไส้เดือน 1 กก. โดยเลี้ยงในรองปูน ขนาด 1 เมตร โดยเริ่มเลี้ยงวันที่ 1 ม.ค. 52 เราก็จะแบ่งไส้เดือนออกเป็น 5 บ่อๆละ 2 ขีด จากนั้นประมาณ วันที่ 5-10 กพ.52 เราก็ทำการแยกพ่อพันธุ์ออก ไปใส่บ่อใหม่ อีก 5 บ่อเท่าเดิม นึกภาพตามนะครับ จากนั้นเลี้ยงบ่อเดิมต่ออีก 45-60 วัน ต่อไปวันที 15-20 มีนาคม 52 ทำการแยกพ่อพันธุ์จากบ่อชุดที่สอง ออกมาใส่บ่อใหม่อีก 5 บ่อเช่นเคย จากนั้น วันที่ 25-30 เมษายน 52 ทำการแยกพ่อพันธุ์อีกแล้ว ไปอีก 5 บ่อเช่นเคย แต่เดี่ยวก่อน!!!!!ตอนนี้ 5 บ่อแรกกลายเป็นพ่อธุ์แล้ว ลองค่อยๆแยกทีละบ่อดูว่าได้พ่อพันธุ์มาบ่อละเท่ารัยโดยทั่วไปจะได้ไม่ต่ำกว่าบ่อละ ครึ่งโล แล้วก็ทำการแยกอีกครั้งครั้งนี้งานเริ่มหนักแล้ว เพราะจาก 5 บ่อ(ลูก)จะกลายเป็นไม่ต่ำกว่า 10 บ่อ(พ่อพันธุ์) สรุป จาก 1 มค.20-30 เมษายน จะได้พ่อพันธุ์ ไม่ต่ำกว่า 4 กก.กรัม โดยยังไม่นับลูกที่ยังค้างอยู่ในบ่อ อีก 15 บ่อที่พร้อมผลิตมากลายเป็นพ่อพันธุ์อีก ทุกเดือน

ลองคิดดูเล่นๆว่าเราจะได้พ่อพันธุ์ กี่กิโลหากเลี้ยงครบ 1 ปี? (อิอิ ถ้าไม่รีบจับขายซะก่อนนะ ผมคนนึงละที่อดใจไม่ไหวขายหมดก่อน)

2. การเพาะเลี้ยงไส้เดือนด เพื่อผลิตปุ๋ย
การเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตปุ๋ย ผมเห็นว่าเราควรมีไส้เดือน ประมาณ 50-100 กก. เพื่อจะผลิตปุ๋ยได้ต่อเดือน 400-500กก. ขึ้นอยู่กับการจัดการนะครับ จะว่าง่ายมันก็ง่าย จะว่ายากมันก็ยาก(ตรงเหนื่อยเอาการอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยกเว้นให้กับคนมีเงินทุนที่ซื้อเครื่องทุ่นแรงนะครับเครื่องฮาเวส)
เอาละมาว่ากันต่อ แปบๆ กินน้ำก่อน... มาแย้ว เริ่มที่เบดดิ้งและใส่ภาชนะเดิม โดยเราจะใส่ เบดดิ้ง 8 กก./ไส้เดือน 1 กก. โดยปกติไส้เดือนจะกินเบดดิ้งหมดภายใน 1 เดือน (ของผมกินหมดใน 20 วัน) เราก็ทำการแยกไส้เดือนออก จากนั้นรดน้ำและให้อาหารต่ออีก 1 เดือน เมื่อเลี้ยงครบก็จะได้ลูกมาอีกเล็กน้อย ทำการตักออกมาผึ่งลมไว้ ประมาณ 1 อาทิตย์จากนั้นแยกลูกออก แล้วนำผึ่งลมให้แห้งหรือความชื้นไม่เกิน30 %จากนั้นนำตะแกรงขนาด 1มม. ร่อนจะได้ปุ๋ยที่มีขนาดสวยงามน่าใช้ พร้อมบรรจุถุงขายแล้ว (ง่ายอีกแล้วใช้ม้า แต่อย่าลืมว่ามันเป็น 100บ่อ น้า หุหุ )

แค่นี้ก่อนนะครับ ...วันหลังมาว่ากันต่อเรื่อง การให้อาหาร

อย่าลืมแนะนำให้คนรู้จักรู้ถึงประโยชน์ของ การเพาะเลี้ยงไส้เดือน กันด้วยนะครับ

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(การเตรียมเบดดิ้ง)


การเพาะเลี้ยงไส้เดือน (การเตรียมเบดดิ้ง)
เบดดิ้ง คือ ที่อยู่และเป็นอาหารของไส้เดือน จะประกอปด้วย มูลสัตว์ เช่น มูลวัวนม (หรือมูลวัวเนื้อก็ได้ตามแต่จะสะดวก) มูลสุกร มูลไก่ และผสมกับ ขยะอินทรีย์ เช่น พืชผัก ผลไม้ วัชพืช ต่างๆ ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษลัง กระดาษต่างๆ (ควรนำแช่น้ำให้เปื่อยยุ่ยก่อนจะดีมาก) นำมาผสมกันด้วยอัตราส่วน 50:50 แช่น้ำไว้และถ่ายน้ำทิ้ง ประมาณ 3-4 น้ำ หลังจากนั้นหมักทิ้งไว้ 1 เดือน จนหมดความร้อน จึงเริ่มปล่อยพ่อพันธุ์ เพื่อการเพาะเลี้ยงไส้เดือน ต่อไป

วิธีการทำเบดดิ้งแบบพร้อมใช้ทันที ซื้อขี้วัวนมแบบตากแห้งเรียบร้อยแล้ว และขุยมะพร้าว ตามร้านขายต้นไม้ นำขี้วัวมาแช่น้ำไว้สัก 1 ชม. เพื่อให้ขึ้วัวยุ่ยและต้องช่วยบดก้อนใหญ่ให้เล็กลงด้วย จะทำให้ไส้เดือนกินได้ง่ายขึ้น จากนั้นนำมาผสมกับขุยมะพร้าวอัตราส่วน 50:50 แค่นี้ก็เริ่ม การเพาะเลี้ยงไส้เดือน ได้แว้ว อิอิง่ายใช่ม้า

อย่าลืมแนะนำให้คนรู้จักรู้ถึงประโยชน์ของ การเพาะเลี้ยงไส้เดือน กันด้วยนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2552

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน(พันธุ์ของไส้เดือน)




การเพาะเลี้ยงไส้เดือน (พันธุ์ของไส้เดือน)
เรามาเริ่มกันต่อว่าแล้วจะเพาะเลี้ยงไส้เดือนพันธุ์ไหนขุดเอาแถวบ้านมาใช้ได้เลยหรือไม่?

ปัจจุบันพันธุ์ไส้เดือนที่นิยมใน การเพาะเลี้ยงไส้เดือน มีอยู่ 3 สายพันธุ์
1. ฟีเรททิมา พีกัวนา ( Pheretima peguana )
ชื่อท้องถิ่น ขี้ตาแร่
ไส้เดือนดินสายพันธุ์ ฟีเรททิมา พีกัวนา เป็นไส้เดือนดินสีแดงที่มีลำตัวกลมขนาดปานกลาง โดยมีขนาดใกล้เคียงกับใส้เดือนสายพันธุ์ แอฟริกัน ไนท์ครอเลอร์
ไส้เดือนดินสายพันธุ์ ฟีเรททิมา พีกัวนา เป็นไส้เดือนดินสีแดงที่พบได้ทั่วไปในแถบเอเซีย ซึ่งในประเทศไทยก็พบเช่นกัน ไส้เดือนดินสายพันธุ์นี้เป็นไส้เดือนดิน ที่มีลำตัวขนาดกลาง อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีอินทรียวัตถุมาก เช่นใต้กองปุ๋ยหมัก ใต้กองมูลวัวในโรงเลี้ยงวัวนม ใต้เศษหญ้าที่ตัดทิ้ง โดยจะอาศัยอยู่บริเวณผิวดินไม่ขุดรูอยู่ในดินที่ลึกเหมือนกับไส้เดือนพันธุ์สีเทา ที่จะอาศัยอยู่ในสวนผลไม้ หรืออยู่ในชั้นดินที่ลึกลงไป ไส้เดือนพันธุ์นี้โดยทั่วไปในภาคเหนือ เรียกว่า “ขี้ตาแร่” ซึ่งชาวบ้านมักใช้เป็นเหยื่อตกปลา ลักษณะพิเศษของไส้เดือนดินสายพันธุ์นี้ คือมีความตื่นตัวสูงมาก เมื่อถูกจับตัวจะดิ้นอย่างรุนแรงและเคลื่อนที่หนีเร็วมาก นอกจากนี้การนำไปใช้กำจัดขยะอินทรีย์ พบว่าไส้เดือนดินสายพันธุ์นี้สามารถกินขยะอินทรีย์จำพวกเศษผัก ผลไม้ หมดอย่างรวดเร็ว ซึ่งจาการทดลองนำไส้เดือนสายพันธุ์ ขี้ตาแร่ มากำจัดขยะ จะถูกย่อยหมดภายใน 2-3 วัน นอกจากไส้เดือนดินสายพันธุ์นี้กินอาหรแก่งแล้วยังสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

2. ยูดริลลัส ยูจีนิแอ ( Eudrilus eugeniae )
ชื่อสามัญ African Night Crawler

ไส้เดือนดินสายพันธุ์ African Night Crawler มีขนาดลำตัวค่อนข้างใหญ่ สามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็วและไต่ขึ้นขอบบ่อได้เก่งมาก มีการเลี้ยงไส้เดือนดินสายพันธุ์นี้กันอย่างกว้างขวาง ไส้เดือนดินสายพันธุ์นี้มีความเหมาะสมมากในการนำมาผลิตเป็นโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีขนาดใหญ่และมีอัตราการแพร่พันธุ์สูงมากแต่มีข้อเสียตรงที่ไส้เดือนดินสายพันธุ์นี้ไม่ค่อยทนทานต่ออุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมเลี้ยงยากและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยากด้วยสำหรับในด้านการนำมาใช้จัดการขยะพบว่า ไส้เดือนสายพันธุ์มีความสามารถในการย่อยสลายขยะในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว เป็นไส้เดือนดินสายพันธุ์ในเขตร้อน ซึ่งจะชอบอุณหภูมิที่ค่อนข้างร้อน โดยจะเจริญเติบโตได้ไม่ดีในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส และจะตายในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียล ดังนั้นการเลี้ยงไส้เดือนดินสายพันธุ์นี้ในประเทศไทยเขตหนาวจะถูกจำกัดการเลี้ยงเฉพาะภายในโรงเรือนที่มีการควบคุมอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวเท่านั้นถึงจะเลี้ยงได้ สำหรับการเลี้ยงแบบภายนอกโรงเรือน จะเหมาสมกับเฉพาะพื้นที่ในเขตร้อนหรือกึ่งร้อนเท่านั้น

3. อายซิเนีย ฟูทิดา ( Eisenia foetida )
ชื่อสามัญ The Tiger worm , Manure Worm , Compost Worm

ไส้เดือนดินสายพันธุ์ อายซิเนีย ฟูทิดา เป็นไส้เดือนสีแดงที่มีลำตัวกลม ขนาดเล็ก ลำตัวมีสีแดงสด เห็นปล้องแต่ละปล้องแบ่งอย่างชัดเจน สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและมีกลิ่นตัวที่รุนแรง ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา นิยมนำไปเป็นเหยื่อตกปลา และมีความสามารถในการกำกัดขยะในครัวเรือนได้เร็วมากชนิดหนึ่ง

จุดเด่นจุดด้อยของแต่ละสายพันธุ์
1. ขี้ตาแร่ เป็นสายพันธุ์พื้นบ้านของไทย สามารถย่อยขยะได้เร็วที่สุดของไทย แต่ยังกินได้ช้ากว่า AF ไทเกอร์ และบลูอยู่ 2-3เท่า การขยายพันธุ์ช้า
2. AF สายพันธุ์ต่างประเทศ กินอาหารได้รวดเร็ว ขยายพันธุ์ไว สามารถแยกตัวได้ง่ายเพราะมีขนาดใหญ่
3. ไทเกอร์ สายพันธุ์ต่างประเทศ กินอาหารเร็วที่สุด ขยายพันธุ์ไว สามารถเก็บเกี่ยวตัวได้ไม่ยากนัก แต่มีขนาดสั้น และยังมีราคาที่แพงเกินไป
4. ไส้เดือนสีน้ำเงิน กินอาหารได้ไวพอสมควร ขยายพันธุ์ไวพอกับไส้เดือนสายพันธุ์ AF แต่เก็บเกี่ยวตัวได้ยากเนื่องจากตัวมีลักษณะผอม
จะเห็นว่าสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดใน การเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อกำจัดขยะ และผลิตปุ๋ยเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว คือ สายพันธุ์ AF เนื่องจากมีขนาดตัวที่ใหญ่ กินอาหารรวดเร็ว ขยายพันธุ์ไว มีราคาที่เหมาะสม
แต่หากจะเพาะเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะในครัวเรือนโดยไม่คิดถึงเรื่องรายได้เสริม สายพันธุ์ไส้เดือนสีน้ำเงินก็น่าสนใจเนื่องจากราคาจะถูกกว่าสายพันธุ์AF

ง่วงอีกแล้ว.....ไว้วันหลังมาว่ากันต่อเรื่อง ภาชนะใน การเพาะเลี้ยงไส้เดือน ดีกว่า

อย่าลืมแนะนำให้คนรู้จักรู้ถึงประโยชน์ของ การเพาะเลี้ยงไส้เดือน กันด้วยนะครับ

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552

การเพาะเลี้ยงไส้เดือนจะช่วยเราลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัญหาโลกร้อนเป็นสิ่งที่ทุกคนในโลกนี้เริ่มให้ความสำคัญกันมากขึ้น เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อนได้เช่นกัน สื่อโทรทัศน์คงได้นำเสนอวิธีลดโลกร้อนมาอย่างมากมาย ผมจึงขอนำเสนอน้องเดือนลดโลกร้อน ก่อนอื่นหลายๆท่านหากไม่ใช่คนค้าขายในตลาดสดคงไม่ทราบว่ามีเศษขยะที่ย่อยสลายได้ถูกทิ้งมากมายหลายตันต่อวัน และยังจะมีกระดาษบางส่วนที่ไม่ถูกนำไปรีไซเคิล จะดีหรือไม่หากเราสามารถกำจัดขยะมูลฝอยจำพวกนี้โดยไม่ต้องนำไปเผา (ลดโลกร้อนได้มากโข) หรือแม้แต่จะปล่อยไว้ให้เน่าเหม็น (ปัจจุบันผมไปเก็บขยะจากตลาดสดที่ถูกทิ้งทุกอาทิตย์) นอกจากลดโลกร้อนแล้วเรายังได้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างดีมาให้ต้นไม้รับประทานโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีใดๆทั้งสิ้น
เพื่อนๆคงเห็นประโยชน์ของน้องเดือนเล็กๆน้อยๆบ้างแล้ว เอ ว่าแต่น้องเดือนจะกินได้สักเท่ารัยกัน อ้าฮะ! ถามได้ดี (ชมตัวเองอิอิ)
น้องเดือน 1 กิโลกรัม สามารถกินเศษขยะอินทรีย์ได้ถึง 8 กิโลกรัมต่อวัน ถ้าแต่ละครัวเรือนเลี้ยงไว้บ้านละ 1 กิโลกรัมเราก็แทบจะไม่ต้องมีขยะเน่าเหม็นทิ้งออกมาจากบ้านเราเลย ลดโลกร้อนได้เยอะเลยใช่ม้า ...ไว้เรามาว่ากันต่ออีกทีวันนี้ขอพักก่อน

อย่าลืมแนะนำให้คนรู้จักรู้ถึงประโยชน์ของ การเพาะเลี้ยงไส้เดือน กันด้วยนะครับ